

วันที่ 18 พฤศจิกายน 2562 : พยากรณ์อากาศ 24 ชั่วโมงข้างหน้า ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีอากาศเย็นในตอนเช้า อุณหภูมิจะลดลง 1-3 องศาเซลเซียส กับมีลมแรง ขอให้ประชาชนบริเวณดังกล่าวรักษาสุขภาพเนื่องจากอากาศที่หนาวเย็นลงไว้ด้วย ส่วนภาคใต้จะมีฝนเพิ่มขึ้น
เคยสงสัยกันมั้ยว่ากรมอุตุนิยมวิทยา คำนวนสภาพอากาศกันอย่างไร และมีวิธีการใดบ้างที่จะพยากรณ์สภาพอากาศในแต่ครั้ง ก่อนที่จะนำมาประกาศมาให้ประชาชนได้รู้ถึงสภาพอากาศในปัจจุบัน-อนาคต
ก่อนอื่น... การพยากรณ์อากาศคืออะไร?
- จากเว็บไซค์ tmd.go.th (กรมอุตุวิทยา) กล่าวว่า การพยากรณ์อากาศ หมายถึง การคาดหมายสภาพลมฟ้าอากาศในอนาคต
แต่การที่จะพยากรณ์อากาศได้ต้องมีองค์ประกอบ 3 ประการ ประการแรกคือความรู้ความเข้าใจในปรากฏการณ์และกระบวนการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในบรรยากาศ ประการที่ สองคือสภาวะอากาศปัจจุบัน และประการสุดท้ายคือความสามารถที่จะผสมผสานองค์ประกอบทั้งสองข้างต้นเข้าด้วยกันเพื่อคาดหมายการเปลี่ยนแปลงของบรรยากาศที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

การพยากรณ์อากาศโดยกรมอุตุนิยมวิทยาสามารถทำได้โดยวิธีการใดบ้าง?
1. วิเคราะห์แผนที่อากาศผิวพื้น
เพื่อศึกษาว่า มวลอากาศแต่ละสถานที่เป็น H หรือ L โดยการลากเส้นความกดอากาศเท่า (isobar) ให้แต่ละเส้นความกดอากาศห่างเท่ากัน ๒ เฮกโตปาสกาล แล้วเปรียบเทียบแนวโน้มความเปลี่ยนแปลงของ H และ L (ภาพแผนที่อากาศผิวพื้น) ในช่วงเวลาเดียวกัน เช่น ข้อมูลความกดอากาศ เมื่อเวลา ๐๗.๐๐ น. ของวันนี้ เปรียบเทียบกับข้อมูลความกดอากาศเมื่อเวลา ๐๗.๐๐ น.ของวันก่อน เพื่อศึกษาแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของอากาศ รวมทั้งการเปรียบเทียบความแตกต่างของค่าความกดอากาศ และค่าอุณหภูมิของแต่ละวันในช่วงเวลาเดียวกัน

แผนที่อากาศผิวพื้นวันที่ 18 พฤศจิกายน 2562 เวลา 07.00 น.บริเวณความกดอากาศสูงระลอกใหม่แผ่ปกคลุมประเทศจีนตอนใต้ ส่วนพายุโซนร้อน “KALMAEGI” บริเวณด้านตะวันออกของประเทศฟิลิปปินส์ ไม่มีผลกระทบต่อประเทศไทย
ตัวอย่างสัญลักษณ์ทางอุตุนิยมวิทยาบนแผนที่อากาศ ได้แก่
L หย่อมความกดอากาศต่ำ เป็นบริเวณที่อากาศร้อนยกตัวทำให้เกิดเมฆ
H บริเวณความกดอากาศสูง เป็นบริเวณที่อากาศเย็นแห้งแล้ว ฟ้าใส ไม่มีเมฆปกคลุม
เส้นไอโซบาร์ (Isobar) ซึ่งเป็นเส้นโค้งที่ลากเชื่อมต่อบริเวณที่มีความกดอากาศเท่ากัน คำว่า Iso แปลว่าเท่ากัน bar คือความกดอากาศ เมื่อนำมารวมกันกันจึงแปลว่าเส้นความกดอากาศเท่า isobar นี่นอกจากจะบอกบริเวณความกดอากาศในจุดนั้นๆได้ ยังสามารถบอกสิ่งอื่นได้อีก คือ ลม เพราะลมกดเกิดจากความกดอากาศที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่โดยลมจะพัดจากบริเวณความกดอากาศสูงไปบริเวณความกดอากาศต่ำ ยิ่งบริเวณที่มี isobar ติดๆกัน บริเวณนั้นจะมีลมแรง
(สามารถศึกษาการอ่านแผนที่อากาศเบื้องต้นได้จากกระทู้ของคุณ เอ็มเด็กดี จากกระทู้นี้ได้ครับ https://pantip.com/topic/33870447)
2. วิเคราะห์แผนที่ลมชั้นบน
ระบบอากาศที่อยู่สูงขึ้นไปจากพื้นดินจะมีความสัมพันธ์กับระบบอากาศผิวพื้น ถ้าระบบอากาศผิวพื้นเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำ แสดงว่า อากาศในบริเวณดังกล่าวเบาบาง และมีการยกตัวของอากาศ อากาศที่อยู่รอบๆ จะมีน้ำหนักมากกว่าและไหลเข้ามาแทนที่ แต่เนื่องจากการหมุนของโลก เกิดแรงที่ทำให้ลมพัดเฉไปทางขวาในซีกโลกเหนือ และเฉไปทางซ้ายในซีกโลกใต้ เรียกแรงนี้ว่า "แรงเฉ" (coriolis force) ลมที่ระดับความสูงต่างๆ สามารถนำมาใช้คาดหมายลักษณะอากาศผิวพื้นว่า จะมีแนวโน้มการพัฒนาความรุนแรงเพิ่มขึ้นหรือลดลง เช่น ในการพิจารณาแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของพายุหมุนเขตร้อนต้องศึกษาการไหลของอากาศที่เข้าสู่จุดศูนย์กลาง หากมีการไหลเข้าสู่จุดศูนย์กลางสูงขึ้นไปจากพื้นดินมากขึ้น แสดงว่า พายุนั้นจะมีการพัฒนาความรุนแรงเพิ่มขึ้น ในทางกลับกัน ถ้าการไหลของอากาศเข้าสู่จุดศูนย์กลางมีระดับลดต่ำลง แสดงว่า พายุนั้นจะมีการพัฒนาความรุนแรงลดลง นอกจากนี้ ยังสามารถศึกษากระแสลมในลักษณะของคลื่นกระแสลมฝ่ายตะวันตก และคลื่นกระแสลมฝ่ายตะวันออก ซึ่งมีผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงของลมฟ้าอากาศด้วย

3. วิเคราะห์แผนที่อากาศเชิงตัวเลข (Numerical Weather Prediction : NWP)
ปัจจุบันพัฒนาการด้านคอมพิวเตอร์เจริญก้าวหน้ามาก และมีการนำคอมพิวเตอร์มาช่วยในการพยากรณ์อากาศ เพื่อให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น และรวดเร็วมากขึ้น ในการรวบรวมผลการตรวจอากาศจากสถานีตรวจอากาศจำนวนมากในแต่ละวัน ซึ่งป้อนเข้าสู่เครื่องคอมพิวเตอร์ที่ใช้ความเร็วสูง และเครื่องคอมพิวเตอร์จะทำการประมวลข้อมูลทางอุตุนิยมวิทยา เช่น อุณหภูมิ ความกดอากาศ ความชื้น ลมและทิศทางลม ชนิดและจำนวนเมฆในท้องฟ้า ด้วยสูตรทางคณิตศาสตร์ในรูปแบบของสมการต่างๆ จำนวนมาก แสดงผลลัพธ์ให้เห็นในรูปของแบบจำลองของบรรยากาศที่แสดงค่าต่างๆ ที่จุดพิกัด (grid points) เพื่อศึกษาการเปลี่ยนแปลงของอากาศที่พยากรณ์ว่า จะเกิดขึ้นภายใน 24, 48, 60, 72 ชั่วโมง ในรูปแบบของแผนที่ต่างๆ ที่เรียกว่า "แผนที่พร็อกโนสทิก" (Prognostic map) เช่น แผนที่อากาศผิวพื้น แผนที่ลมชั้นบน แผนที่พยากรณ์ฝน
4. การเปรียบเทียบข้อมูลทางสถิติด้านภูมิอากาศ
เป็นการพยากรณ์อากาศโดยใช้ข้อมูลภูมิอากาศเป็นข้อมูลพื้นฐาน เช่น ประเทศไทยตั้งอยู่ในเขตร้อนชื้น ได้รับอิทธิพลจากลมประจำฤดู ๒ กระแส คือ มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ และมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ในฤดูหนาว (เดือนธันวาคม) กรุงเทพฯ ซึ่งตั้งอยู่ในภาคกลาง มีอุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ยที่ 21 องศาเซลเซียส และอุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ยที่ 32 องศาเซลเซียส ดังนั้นการพยากรณ์อุณหภูมิของอากาศ จะอยู่ในช่วงที่ใกล้เคียงกับค่านี้
วิธีการพยากรณ์อากาศ
วิธีแนวโน้ม เป็นการพยากรณ์อากาศโดยใช้ทิศทางและความเร็วในการเคลื่อนที่ของระบบลมฟ้าอากาศที่กำลังเกิดขึ้น เพื่อคาดหมายว่าในอนาคตระบบดังกล่าวจะเคลื่อนที่ไปอยู่ ณ ตำแหน่งใด วิธีใช้ได้ดีกับระบบลมฟ้าอากาศที่ไม่มีการเปลี่ยนความเร็ว ทิศทาง และความรุนแรง มักใช้วิธีนี้สำหรับการพยากรณ์ฝนในระยะเวลาไม่เกินครึ่งชั่วโมง การพยากรณ์ด้วยวิธีภูมิอากาศคือการคาดหมายโดยใช้ค่าเฉลี่ยจากสถิตภูมิอากาศหลายๆ ปี วิธีนี้ใช้ได้ดีเมื่อลักษณะของลมฟ้าอากาศมีสภาพใกล้เคียงกับสภาวะปกติของช่วงฤดูกาลนั้น ๆ มักใช้สำหรับการพยากรณ์ระยะนาน การพยากรณ์อากาศด้วยคอมพิวเตอร์เป็นการใช้คอมพิวเตอร์คำนวณการเปลี่ยนแปลงของตัวแปรที่เกี่ยวข้อง กับสภาวะของลมฟ้าอากาศ โดยใช้แบบจำลองเชิงตัวเลข (numerical model) ซึ่งเป็นการจำลองบรรยากาศและพื้นโลก ด้วยสมการทางคณิตศาสตร์ที่ละเอียดอ่อนและซับซ้อน ข้อจำกัดของวิธีนี้คือแบบจำลอง ไม่มีรายละเอียดครบถ้วนเหมือนธรรมชาติจริง ในทางปฏิบัติ นักพยากรณ์อากาศมักใช้วิธีการพยากรณ์อากาศหลายวิธีร่วมกันตามความเหมาะสม เพื่อให้ได้ผลการพยากรณ์ที่ถูกต้องแม่นยำที่สุดเท่าที่จะทำได้
การพยากรณ์อากาศสามารถแบ่งตามช่วงเวลาได้ 3 ช่วง โดยมีการแบ่งดังนี้
1. การพยากรณ์อากาศระยะสั้น
- การพยากรณ์อากาศปัจจุบัน ช่วงเวลาพยากรณ์ไม่เกิน 3 ชั่วโมง
- การพยากรณ์อากาศระยะสั้นมาก ช่วงเวลาพยากรณ์ไม่เกิน 12 ชั่วโมง
- การพยากรณ์อากาศระยะสั้น ช่วงเวลาพยากรณ์ไม่เกิน 72 ชั่วโมง
2. การพยากรณ์อากาศระยะปานกลาง
- ช่วงเวลามากกว่า 72 ชั่วโมง ถึง 10 วัน
3. การพยากรณ์อากาศระยะนาน
- ช่วงเวลามากกว่า 10 วัน
ตัวอย่างการพยากรณ์อากาศ 7 วัน (18 พ.ย. 62 - 24 พ.ย. 62)
ในช่วงวันที่ 19-22 พ.ย. 62 อุณหภูมิจะลดลง 1-3 องศาเซลเซียส กับมีอากาศเย็นในตอนเช้าและมีลมแรง อุณหภูมิต่ำสุด 21-23 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-33 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 23-24 พ.ย. 62 อุณหภูมิจะสูงขึ้น 1-3 องศาเซลเซียส กับมีหมอกบางในตอนเช้า อุณหภูมิต่ำสุด 23-24 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-20 กม./ชม.
ทำไมพยากรณ์อากาศบ้านเราถึงไม่ค่อยแม่น?
หลายคนมักจะบ่นการพยากรณ์อากาศบ้านทั้งจากกรมอุตุฯ หรือจากเว็บไซต์ต่างๆ ว่าไม่ค่อยแม่น ต่างประเทศเค้าแม่นกว่า สำหรับความคลาดเคลื่อนของการพยากรณ์สภาพอากาศมาจากปัจจัยดังนี้ครับ
ช่วงเวลาที่เราดูการพยากรณ์อากาศ : เรามักจะดูพยากรณ์อากาศล่วงหน้าหลายวัน เพราะเว็บไซต์ต่างๆ สามารถเข้าไปดูได้ แต่หลายคนไม่ทราบว่ายิ่งดูออกไปนานความคลาดเคลื่อนยิ่งสูง ถ้าจะเอาให้แม่นสุดๆ ต้องดูล่วงหน้าสัก 2-3 ชั่วโมงครับ
สภาพภูมิอากาศของประเทศไทย : อย่างที่ทราบกันว่าเราอยู่ในเขตเส้นศูนย์สูตร เป็นเขตมรสุม มีพื้นที่ที่เป็นแผ่นดินยาวติดทะเลทั้งสองด้าน และลักษณะทางภูมิศาสตร์ของเราค่อนข้างซับซ้อน ภูเขา ทิวเขา มีหลากหลายลักษณะ ปัจจัยเหล่านี้เป็นตัวแปรหลักที่ทำให้มีความซับซ้อนและเกิดความคลาดเคลื่อนในการพยากรณ์ได้สูงมาก
ล่าสุดวันนี้ กรมอุตุนิยมวิทยาได้ออกพยากรณ์อากาศเตือน มวลอากาศเย็นระลอกใหม่ ทำให้อุณหภูมิลดฮวบ (https://www.mixmaya.com/1574051155/) จะแม่นไม่แม่นยังไง อย่างน้อยเรารู้ไว้ล่วงหน้าคร่าวๆ ก็ทำให้สามารถเตรียมตัวรับมือกับอากาศที่จะเปลี่ยนแปลงในอนาคตได้นะคร้าบ :)
ขอบคุณข้อมูลจาก : กรมอุตุนิยมวิทยา, สารานุกรมไทย
Comments